Week 1

บันทึกเปื้อนยิ้ม
สัปดาห์แรก สัปดาห์แห่งการเรียนรู้กับโรงเรียนนอกกะลา เรื่องราวและภาพความประทับใจจะถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรต่อจากนี้นั้นคงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของความน่ารักของเด็กๆ ซึ่งความจริงแล้วถ้าพูดถึงหรือแค่นึกถึงก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ ครูกับเด็กนักเรียนเป็นของคู่กันต่างคนต่างแต่งแต้มสีสันเพื่อร้อยเรื่องราวให้กันและกันและนั้นก็มีทั้งร้อยยิ้มและคาบน้ำตา ซึ่งไม่ต่างไปจากสาขาอาชีพอื่นๆ เขาวากันว่า ครูมาจากคำว่า “ครุ” ที่แปลว่าหนัก เราได้มาสัมผัสคำว่าครุก็เมื่อได้ก้าวเข้ามาเป็นครูนักศึกษาฝึกประสบการณ์ที่สถานที่ที่ใครต่อใครต่างเรียกว่าโรงเรียนนอกกะลา แล้วนอกกะลาที่ว่านั้นมันคืออะไร ? เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 9 สัปดาห์ในการใช้ชีวิตเป็นครู ณ ตอนนี้เริ่มนับวันเวลาถอยหลัง ทำไมความรู้สึก ณ ขณะนี้เหมือนเวลาเดินเร็วเหลือเกิน เรารู้สึกคิดถึงเด็ก รัก ผูกพันอย่างบอกไม่ถูก ถ้าลองย้อนเวลากลับไปในช่วงสัปดาห์แรกๆที่เข้ามามันชั่งแตกต่างกันเหลือเกิน คิดถึงภาพของวันที่เราต้องจากเด็กๆเพื่อกลับมหาวิทยาลัยแล้วใจหวิวๆเหมือนกันแฮะ
นอกกะลาที่ว่าคืออะไรนั้น ณ วันนี้เราว่าเราพอที่จะตอบคำถามตัวเองได้แล้วแหละ รู้สึกตัวอีกทีนี้เรารักไอ้เจ้าคำที่ใครต่อใครเรียกว่า “นอกกะลา” ไปแบบไม่รู้ตัว นอกกะลาที่ว่าคือสิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแผนการสอน วิถี กิจกรรมจิตศึกษา Body scan ยอมรับว่าช่วงที่มาแรกๆในพี่สมองเติมไปด้วยคำถาม คืออะไร ? ทำทำไม ? ทำเพื่ออะไร ? แล้วถ้าไม่ทำได้ไหม ? และนั้นคือคำถามที่เกิดขึ้น และสิ่งนี้คือคำตอบที่วันนี้เราสามารถที่จะตอบคำถามเหล่านั้นที่เกิดขึ้นได้แล้ว การที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้ในกระบวนการที่ครูผู้สอนตระเตรียมไว้ ต่อให้ครูผู้สอนจะคิดและเตรียมกิจกรรมมาดีเยี่ยมแค่ไหน ถ้าตัวผู้เรียนหรือตัวเด็กนักเรียนไม่พร้อมกิจกรรมก็จะไม่สามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น ซึ่งคำว่าไม่พร้อมที่พูดถึงนั้นไม่ใช่แค่ความไม่พร้อมทางร่างกาย แต่นั้นหมายถึงความไม่พร้อมทางจิตใจของเด็กด้วย เด็กบางคนเราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าก่อนที่เขาจะมาถึงโรงเรียนและเข้าห้องเรียนเขาได้พบเจอและสัมผัสเรื่องราวอะไรมาแล้วบ้างดังนั้นกิจกรรมจิตศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่จะช่วยดึงให้เด็กกลับมารับรู้ อยู่กับตัวเอง มีสติ มีสมาธิ และรู้ตัว เมื่อเด็กๆรู้ตัวรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนและต้องทำอะไร และที่สำคัญคือรู้ว่าต้องทำอะไร นั้นก็หมายความว่าสมองของเด็กและตัวเด็กเองก็พร้อมที่จะเรียนรู้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อสมองถูกใช้งานมากๆก็เกิดการเหนื่อยล้าเช่นเดียวกับร่างกายของคนเราที่เมื่อเกิดความเหนื่อยล้าก็ย่อมอยากพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายดังนั้นกิจกรรม Body scan จึงถือเป็นการขอบคุณและผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนที่ทำหน้าอย่างเต็มที่ ขอบคุณทุกลมหายใจที่ทำให้เราได้มีชีวิต เก็บพลัง รับพลังจากจักรวาล นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกสติ สมาธิ รับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองโดยการกำหนดลมหายใจ จับสัมผัส จับความรู้สึกไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีก็ได้นะในความคิด แต่ถ้ามีแล้วสิ่งที่ตามมาคือเด็กเกิดการเรียนรู้และมีสติรู้ตัวมากขึ้นคงจะใช้คำว่าไม่มีคงไม่ได้แล้วหละ
ครุที่ว่าหนัก ไม่ใช่แค่หน้าที่ภาระการงานเท่านั้นที่ว่าหนัก ครูที่ดีนั้นต้องให้ได้ทั้งความเป็นเพื่อน พ่อ แม่ ซึ้งบทบาทเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำยากมาก ที่ว่าหนักกว่านั้นคือการจัดการกับอารมณ์ของตนเองที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งนั้นหมายความว่า ครูก็ไม่ได้ทำแค่เพียงหน้าที่ครูเพียงอย่างเดียว ครูต้องสอน เล่น อบรมสั่งสอน มอบความรักความอบอุ่นให้กับเด็ก เติมเต็มให้เด็ก และครูที่ดีไม่ใช่แค่เพียงว่าสอนเก่งเท่านั้น แต่ครูที่ดีต้องเป็นครูที่ตั้งคำถามเก่งเช่นกัน และคำถามที่ครูสร้างจะนำทางให้เด็กได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตามที่อยากให้เป็น (ครูใหญ่กล่าว)
จะพูดถึงเรื่องราวอมยิ้มของสัปดาห์นี้มีอยู่ว่า เขาว่ากันว่า เล่นคือเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีคือการได้ลงมือปฏิบัติ ในชั่วโมง PBL ของพี่ๆชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับการทดลองวิทยาศาสตร์ในหน่วย แสง สี เสียง ( ชื่อเดิม ) พี่ๆได้ทำการทดลองเกี่ยวกับแสงจากดวงอาทิตย์ โดยพี่เกิดข้อสงสัยว่า แสงจากดวงอาทิตย์เมื่อผ่านแว่นขยายทำให้กระดาษไหม้ได้แล้วแสงจะสามารถทำให้ลูกโป่งแตกได้ไหม ?   ว่าแล้วก็เริ่มลงมือทำการทดลองกันเลยค่ะ เด็กเตรียมอุปกรณ์มา มีแว่นขยายกับลูกโป่ง เมื่ออุปกรณ์ครบ สมาชิกในกลุ่มพร้อม การทดลองก็เริ่มขึ้น เริ่มจากการเป่าลูกโป่งไปจนกระทั่งกระบวนการสุดท้ายคือการใช้แว่นขยายส่องรับแสงกับดวงอาทิตย์สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ ครูคะ หนูกลัวลูกโป่งแตกคะ” กลัวลูกโป่งแตกแต่ทำการการทดลองเพื่ออยากรู้ว่าลูกโป่งจะแตกหรือไม่ ณ ช่วงเวลานั้นครูก็อดหัวเราะไม่ได้เมื่อเห็นภาพเหล่านี้  



        



ในฐานะที่เป็นครูที่อยู่ในเหตุการณ์ก็อดที่จะหัวเราะไม่ได้ หนูกลัวมากค่ะครู แต่ความอยากเรียนรู้หนูก็มีมากกว่ากว่าเช่นกัน ครูเชื่ออย่างนั้น และด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้กิจกรรมการทดลองดำเนินต่อไป และเมื่อสำเร็จสิ่งที่ตามมาคือรอยยิ้มแห่งความประทับใจในความสามารถของตนเอง ถามว่าครูกลัวลูกโป่งแตกไหมคะตอนนั้น บอกได้เลยค่ะว่าครูกลัวยิ่งกว่าเด็กๆอีกนะคะ 555 ชื่นชมในความตั้งใจและความอดทนของเด็กๆในการทำกิจกรรม คือต้องบอกว่าใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องดำเนินกิจกรรมกลางแจ้ง แดดร้อนหรือจะสู้ความกระหายรู้ของพี่ปอสี่

                                                                                                       อมยิ้มกับการเรียนรู้พี่ปอสี่
                                                                                                         14 ม.ค. 60 ( 23.54 น.)
                                                                                                              สุชาดา ผู้บันทึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น